วันเสาร์ที่ 15 ธันวาคม พ.ศ. 2555

สิ่งที่มีคุณค่า ไม่จำเป็นต้องอยู่ด้านหน้าเสมอไป

สวัสดีเพื่อนๆ ทุกคนค่ะ กลับมาพบกันอีกเช่นเคย หลังจากห่างหายไปนาน สบายดี มีความสุข กินอิ่ม นอนหลับกันนะคะ ใกล้จะถึงสิ้นเดือนแล้ว เค้าพูดกันว่า สิ้นเดือนเหมือนสิ้นใจ จริงหรือปล่าวคะ แล้วถ้าจริงเพื่อนๆมีวิธีแก้ไขอย่างไรบ้างคะ ผู้เขียนก็เคยเป็นเหมือนกันค่ะ แต่ก็ใช้ชีวิตตามปกตินะคะ ไม่อดด้วยนะ แถมยังได้กินอาหารญี่ปุ่น (มาม่า) อีกต่างหาก ฮ่าๆ คลายเครียดก่อนเจอสาระความรู้
วันนี้เราจะมาพูดถึง เรื่องของ เงิน เงิน เงิน แล้วก็ เงิน เงินที่ว่านี้ขอพูดแค่เงินที่เป็นธนบัตรเท่านี้นะคะ

ธนบัตรจัดเป็นสิ่งพิมพ์ที่มีค่าชนิดหนึ่ง เมื่อจัดตามประเภทการใช้งาน
ในสมัยก่อน ค่าของเงินจะวัดจากวัตถุที่นำมาใช้เป็นเงิน เช่น เบี้ย ทอง แต่การถือวัตถุที่มีค่าเหล่านี้ออกไปจำนวนมาก ทำให้ไม่สะดวกและอาจเกิดอันตรายได้ จึงมีการใช้ธนบัตรเพื่อเป็นสื่อแลกเปลี่ยน ธนบัตรเป็นเหมือนสัญญาว่าจะให้เงินไปจำนวนหนึ่ง สามารถนำไปแลกคืนเป็นเงินหรือทองในภายหลังได้ ต่อมาจึงเกิดการแลกเปลี่ยนเพื่อสิ่งของและบริการ ไม่ต้องแลกเป็นเงินหรือทองอีก
การจัดทำและการนำออกใช้ธนบัตร เป็นหน้าที่ของธนาคารแห่งประเทศไทย ที่มีบทบาทสำคัญต่อการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจและความมั่นคงของประเทศเป็นอย่างยิ่ง ด้วยธนบัตรเป็นเงินที่สามารถชำระหนี้ได้ตามกฏหมายแล้ว ยิ่งต้องอาศัยการบริหารจัดการที่มีประสิทธิภาพ ปลอดภัยและได้มาตรฐาน เพื่อให้ธนบัตรไทยมีความน่าเชื่อถือ สมกับเป็นสื่อกลางในการแลกเปลี่ยนที่สำคัญ
ธนบัตรเป็นของที่มีค่าที่ของคนในชาติ ตระหนัก ให้ความสำคัญเกี่ยวกับธนบัตรและยังเป็นสื่อที่ทำหน้าที่เผยแพร่เอกลักษณ์ประจำชาติให้ทั่วโลกรู้จัก ดังนั้นการพิมพ์ธนบัตรจึงมักนำภาพที่เป็นสัญลักษณ์แห่งความเจริญรุ่งเรือง ความภาคภูมิใจ ประวัติศาสตร์ อารยธรรมไทย ศิลปกรรม สถาปัตยกรรมและศิลปวัฒนธรรมที่ทรงคุณค่า มาแสดงไว้ในธนบัตรอย่างผสมกลมกลืน
คุณค่าของธนบัตรอยู่ตรงไหน ?

ธนบัตรใบละ 20 บาท สีเขียว ด้านหลังของธนบัตร มีภาพของพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล ปรากฏอยู่ และพระราชดำรัสมีใจความสำคัญว่า “ ถ้าคนไทยทุกคน ถือว่าตนเป็นเจ้าของชาติบ้านเมืองและต่างปฏิบัติหน้าที่ของตนให้ดีด้วยความซื่อสัตย์สุจริตและถูกต้องตามทำนองคลองธรรมแล้ว ความทุกยากของบ้านเมืองก็จะผ่านพ้นไปได้ ”
ธนบัตรใบละ 50 บาท สีฟ้า ด้านหลังของธนบัตร มีภาพของสมเด็จพระนเรศวรมหาราช แสดงถึงเหตุการณ์การทำยุทธหัตถีกับพระมหาอุปราชแม่ทัพพม่าที่ยกมารุกรานไทย จนถูกพระแสงของ้าวสิ้นพระชนม์ และกองทัพพม่า ต้องแตกพ่ายกลับไป
ธนบัตรใบละ 100 บาท สีแดง ด้านหลังของธนบัตร มีภาพของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวและพระราชดำรัสมีใจความสำคัญว่า “ ประเพณีทาสที่มีอยู่ในพระราชอาณาจักรสยาม ถึงเป็นวิธีทาสทำสารกรมธรรม์ขายตัวด้วยใจสมัคร มิใช่ทาสเชลยที่เป็นการกดขี่อย่างร้ายแรงก็จริง แต่ก็เป็นเครื่องกีดขวางความเจริญประโยชน์และสุขสำราญของมหาชนอยู่อย่างหนึ่ง ซึ่งจำเป็นต้องเลิกถอนอย่าให้มีประเพณีทาสภายในอาณาจักรนี้ กรุงสยามจึงจะมีความเจริญสมบูรณ์เท่าทันประเทศอื่น ”
ธนบัตรใบละ 500 บาท สีม่วง ด้านหลังของธนบัตร มีภาพของพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว และพระราชดำรัสมีใจความสำคัญว่า  “ การงานสิ่งใดของเขาที่ดี ควรจะเรียนร่ำเอาไว้ ก็เอาอย่างเขา แต่อย่าให้นับถือเลื่อมใสไปเสียทีเดียว ”
ธนบัตรใบละ 1000 บาท สีเทา ด้านหลังของธนบัตร มีภาพพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและพระราชดำรัสมีใจความสำคัญว่า “ เศรษฐกิจแบบพอมีพอกิน แบบพอมีพอกินนั้น หมายความว่า อุ้มชูตัวเองได้ ให้มีพอเพียงกับตัวเอง ”

จะเห็นได้ว่า ธนบัตรทุกชนิด ล้วนสื่อความหมายเกี่ยวกับพระมหากษัตริย์ พระราชดำรัส พระราชกรณียกิจ เหตุการณ์สำคัญ กว่าจะมาเป็นประเทศไทย สัญลักษณ์ ลวดลายที่ปรากฏบนธนบัตร มีความละเอียดอ่อนและปราณีต แสดงถึงความเป็นไทยได้เป็นอย่างดี เป็นสิ่งที่น่าจดจำและควรค่าแก่การอนุรักษ์เป็นอย่างยิ่ง